สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council)
สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) เป็นองคกร์อิสระภายใต้เครือข่ายขององค์การสหประชาชาติ (UN) จัดตั้งขึ้นในปี 2007 จากการรวมตัวของ 32 องค์กร โดย GSTC ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของโลกขึ้น (Global Sustainable Tourism Criteria) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วย หลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับแหล่งท่องเที่ยว (Destination) หลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับโรงแรม (Hotel) และหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับบริษัทนำเที่ยว (Tour Operator) ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางขั้นพื้นฐานให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความอย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อสร้างการยอมรับในหลักการของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเน้นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการอย่างครอบคลุมในทั้ง 4 มิติ คือ 1) มิติด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน 2) มิติด้านการเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม - เศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น 3) มิติด้านการเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางวัฒนธรรมแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว และ 4) มิติด้านการเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เทรนด์การท่องเที่ยวโลก
คุณ Randy Durband ได้นำเสนอเทรนด์การท่องเที่ยวโลกที่น่าจับตามองในปี 2018 ดังนี้
- ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism) จากความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี นำมาซึ่งปัญหาความแออัดของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เกินขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ เช่น ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น การนำระบบ Visitor Management มาปรับใช้
- ภาวะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) การท่องเที่ยว กรณีนี้เกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ ภาวะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์สินค้าและบริการล้นตลาด ผู้ประกอบการขาดทุน และกรณีภาวะอุปสงค์มากกว่าอุปทาน จะนำไปสู่สถานการณ์นักท่องเที่ยวล้นเมือง ทำให้เกิดปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมตามมา
- แหล่งท่องเที่ยวขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม นำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว
- Disruptive Technology ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยว สร้างความท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องรีบปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
- การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเพียงนโยบาย ยังขาดการนำไปปฏบัติใช้
ผลกระทบจากการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวสามารถก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ในด้านหนึ่งการท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ในทางกลับกันก็สามารถนำไปสู่ปัญหามลภาวะ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมถูกทำลาย รวมไปถึงปัญหาการกระจายของรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งประเด็นนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนของโลก จึงได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs Goals) ขึ้น เพื่อใช้เป็นทิศทางในการพัฒนาโลกตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปี 2030 ทั้งนี้ SDGs ดังกล่าว ประกอบด้วยเป้าหมายที่ต้องบรรลุในปี 2030 จำนวน 17 ข้อ
ที่มา: มูลนิธิมั่นพัฒนา
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมาย จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ข้อที่ 12 สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และข้อที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือกันนำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่นโยบาย แต่สร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
หมายเหตุ: แนบ Mind Mapping “101 - ทิศทางการท่องเที่ยวโลก - Randy Durband GSTC”
โดย Mr. Randy Durband
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
Global Sustainable Tourism Council (GSTC)
เรื่องมาใหม่
-
ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง ...
-
ททท.จัดกิจกรรมเชิญชวนท่องเที่ยว “ เมืองรอง ต้องลอง ต้องรัก ต้องใส่ใจ ” ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ...
-
ยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) เป็นแผนแม่บทระดับชาติที่วางรากฐาน การพัฒนาของประเทศไทย ...
-
วันนี้ (24 กันยายน 2561) ณ ห้องบอลรูม ชั้น M อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร กรุงเทพมหา...
-
แนวคิดโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics & Supply Chain) เป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ...